25.3.55

ผักสมุนไพร : ข่า

ข่า


ชื่อสามัญ/ชื่ออังกฤษ Galanga

ชื่อวิทยาศาสตร์ Alpinia galanga SW.

วงศ์ Zingiberraceae

ชื่ออื่น / ชื่อท้องถิ่น ข่าตาแดง / ข่าหยวก (เหนือ) / ข่าหลวง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ข่าเป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นเป็นกอ มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เหง้ามีสีน้ำตาลอมแสด มีเส้นแบ่งข้อเป็นช่วงสั้นๆ เนื้อในเหง้ามีสีขาวรสขมเผ็ดร้อน แต่ไม่เผ็ดเหมือนกับขิง มีกลิ่นหอมฉุน ข่าเป็นพืชใบเดี่ยว ใบยาวปลายใบมนขอบใบเรียบ ก้านใบยาวเป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ดอกเป็นช่อสีขาวนวล ผลกลมสีแดงส้ม มีรสเผ็ดร้อน
ข่าเป็นพืชพื้นเมืองในเขตร้อน มีถิ่นกำเนินอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคเอเชียเขตร้อน ปัจจุบันข่าใช้เป็นเครื่องเทศในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซียมากกว่าที่อื่น ประเทสไทยมีการปลูกข่าทั่วไป เพราะข่าถือเป็นผักสวนครัวอย่างหนึ่ง

สารสำคัญที่พบ
เหง้าสดมีน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil) ซึ่งประกอบด้วยสารเมททิล-ซินนาเมต (Methyl-cinnamate) ซีนิออล (Cineol) การบูร (Camphor) และยูจีนอล (Eugenol)

สรรพคุณ
1. ใช้เหง้าสดตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำปูนใส รับประทานครั้งละครึ่งแก้ว ช่วยขับลมแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเดิน และบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน
2. ใช้รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อนและแก้ลมพิษ โดยใช้เหง้าสดตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาว ทาบริเวณที่เป็นบ่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น
3. สารสกัดจากข่านำมาประกอบเป็นยารักษาโรคได้หลายชนิด เช่น ยารักษาแผลสด แก้โรคปวดบวมตามข้อ แก้โรคหลอดลมอักเสบ ยาธาตุและยาขับลม
4. ใช้ไล่แมลง โดยนำเหง้ามาทุบหรือตำให้ละเอียดเพื่อให้น้ำมันหอมระเหยออกมา แล้วนำไปวางในบริเวณที่มีแมลง
5. ผลข่ามีสรรพคุณคล้ายกับเหง้า คือ ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องร่วง ฆ่าเชื้อบิด และช่วยย่อยอาหาร ผงจากผลแห้งสามารถรักษาอาการปวดฟันได้ โดยนำไปบดและทาบริเวณที่ปวด

วิธีใช้ในการประกอบอาหาร
ข่าเป็นเครื่องเทศที่ใช้แต่งกลิ่นอาหารและดับกลิ่นคาวพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น ต้มยำปลา ข้าวต้มปลา ต้มข่าไก่ เป็นส่วนผสมในน้ำพริกเครื่องแกงต่างๆ นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนผสมของลูกแป้งที่ใช้ทำข้าวหมากและเหล้า ดอกและลำต้นอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด

อ้างอิงที่มา : 1. http://www.samunpri.com/modules.php?name=Herbs&file=Vegetable&func=Vegetable23

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น